ผลงานการจัดการความรู้เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่ดี (Good Practice)


ผลงานการจัดการความรู้
Date Uploaded: Jun 24, 2023
User imgdoc

ชื่อเรื่อง
การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน ในโครงการ U2T ตำบลตำหนักธรรม และตำบลนายาง
ปี พ.ศ. 2566
รางวัล รางวัลชนะเลิศ
ประเภทผลงาน
ด้านวิจัยและสร้างสรรค์
ชื่อผู้ส่งผลงาน / รายชื่อคณะทำงาน

1) นางสาวมีนา  กรมมี

2) นางสาวนารีนารถ  ภารังกูล

3) นางสาววิไลภรณ์  อินนัน

4) นางสาวภานุมาศ  ภูศรี



บทสรุปโครงการ
                    ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เป็นองค์กรที่มีบทบาทสนับสนุนและดำเนินงานสอดคล้องกับพันธกิจมหาวิทยาลัย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการใช้ศาสตร์องค์ความรู้ของทรัพยากรบุคลากร ทรัพยากรอาคาร เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบทางด้านวิทยาศาสตร์ ผนวกกับการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องในเข้ารับการฝึกอบรมทางด้านงานวิเคราะห์ทดสอบกับหน่วยงานระดับประเทศ พัฒนาทักษะทางการวิจัยและการบริการวิชาการให้กับชุมชน ท้องถิ่น การรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาสินค้า OTOP จนได้รับการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาของสำนักปลัด กระทรวง อว. การเรียนรู้ฝึกประสบการณ์ทำงานวิจัย บริการจากอาจารย์สายวิชาการอย่างต่อเนื่อง         นับได้ว่าบุคลากรในองค์กรเป็นฟันเฟืองสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย ของการเป็นหน่วยงานบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ นวัตกรรม เศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม  ที่ตอบโจทย์ท้าทายของประเทศ ผ่านการปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจหลักของการทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนสอน ก้าวสู่หน่วยงานหลักของการขับเคลื่อนการบริการวิชาการด้วย วทน. ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ ตามนโยบาลของรัฐบาลในประเด็นการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรม ด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กร “มุ่งสู่ความเป็นเลิศในการเป็นผู้ให้บริการครบวงจร  ด้านการตรวจวิเคราะห์ บริการวิชาการ ระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ชุมชน สิ่งแวดล้อม ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)”  

                    การดำเนินงานในโครงการ U2T ตำบลตำหนักธรรม จังหวัดแพร่ และตำบลนายาง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นการดำเนินงานโดยบุคลากรศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีการใช้ศาสตร์และองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ทำงานด้านการบริการวิชาการด้วย วทน. สู่แนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) ในการบริการจัดการวิด้านงานวิจัย/งานสร้างสรรค์ โดยในปี พ.ศ.2564-2565 ที่ผ่านมา ทางศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG ใน 2 พื้นที่รับผิดชอบ คือ ตำบลตำหนักธรรม อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ และตำบลนายาง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อลดปัญหาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและขยะอินทรีย์ในชุมชน กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างงาน สร้างรายได้ ลดปัญหาการว่างงานในระหว่างรอฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีในการทำการเกษตรปลอดภัย ในส่วนของการดำเนินงาน ทางศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ประสานกับหน่วยงานท้องถิ่นคือ อบต.ตำหนักธรรม และ อบต.นายาง เพื่อร่วมกันวางแผนและออกแบบกระบวนงาน โดยการดำเนินงานออกเป็น 5 กระบวนงาน ได้แก่ 1) ลงพื้นที่เพื่อชี้ค้นหาปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน 2) ดำเนินการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 3) ดำเนินงานบริการวิชาการด้วยหลักการจัดการสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนพื้นฐานชุมชนทำได้ โดยการใช้แนวทางหลักการ วทน. 4) สินค้าที่ผลิตขึ้นต้องมีมาตรฐานด้วยตรวจสอบตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และผลักดันการได้ใบรับรองมาตรฐาน เช่น มผช. และ 5) ดำเนินงานด้านบรรจุภัณฑ์และการตลาดในชุมชนและตลาดออนไลน์ 
ตำบลตำหนักธรรมพบว่าเป็นพื้นที่การเกษตร มีปัญหาเรื่องเศษกิ่งไม้ที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่งไม้ผล ข้อไม้ไผ่ และซังข้าวโพด ทางคณะทำงานจึงเล็งเห็นว่าขยะอินทรีย์ดังกล่าวสามารถนำมาก่อให้เกิดประโยชน์ จึงได้นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตถ่านไบโอชาร์ เพื่อใช้ในพื้นที่การเกษตรเป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน และการผลิตถ่านดูดกลิ่น 3 in 1 เป็นสินค้าของชุมชน โดยผ่านกระบวนการเผาแบบไพโรไรซีส และใช้เทคโนโลยีเครื่องอัดแท่งถ่านระบบตัดถ่านอัตโนมัติ ที่มีการคิดค้นและออกแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์เพ็ญ ชุมแสง (ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ทั้งนี้ผลสำเร็จในการดำเนินงานใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน ในโครงการ U2T ของตำบลตำหนักธรรมได้จัดตั้งกลุ่มทำถ่านไบโอชาตำหนักธรรม ผลิตภัณฑ์ถ่านดูดกลิ่น 3 in 1 ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจากอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ เลขที่ 180/2563 ภายในแบรนด์ “ถ่านแห่ระเบิด” โดยมีวางจำหน่ายผ่านหน้าร้าน Old smile Café, ร้านหนองม่วงไข่การเกษตร และทางออนไลน์ผ่าน Tiktok (U2T_Tumnuktam), เพจ Old smile Café, กลุ่มไลน์ชมรมผู้สูงอายุ ตำบลตำหนักธรรม สามารถสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนตำบลหนองม่วงไข่ อีกทั้งจากการอบรมการผลิตสารชีวภัณฑ์ เกษตรกรได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวไปผลิตสารชีวภัณฑ์ขึ้นใช้ในพื้นที่การเกษตรแทนการใช้สารเคมีเป็นการทำการเกษตรแบบปลอดภัย ลดรายจ่ายในการทำการเกษตรและความเสี่ยงจากอันตรายจากสารเคมี เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีขึ้นของคนในชุมชน 
                    ในส่วนของตำบลนายางนั้น ก็เป็นพื้นที่การเกษตรปลูกข้าวและมันสำปะหลังเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงวัว กระบือ เนื่องจากการขับถ่ายของสัตว์ทำให้เกิดปัญหาขยะอินทรีย์มากถึง 14 ตัน/วัน เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นและการขับถ่ายบนท้องถนน ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในชุมชน ทางคณะทำงานเล็งเห็นว่าปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขโดยนำมูลวัวที่มีจำนวนมากมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงดำเนินการประสานกับทาง อบต. เพื่อจัดการอบรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีอัดเม็ด การผลิตสารชีวภัณฑ์ โดยมีมูลวัวเป็นวัตถุดิบหลัก ในการหมักจะใช้กระบวนการหมักแบบเร็ว ในระยะเวลา 14 วัน จากนั้นจึงนำมาสู่กระบวนการปั้นเม็ด โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทางธุรกิจโรงงานลิตปุ๋ยสักใหญ่ อำเภอพิชัย ในการปั้นเม็ดปุ๋ยโดยใช้เครื่องปั้นแบบจานหมุนขนาดใหญ่ โดยมีสมาชิกในโครงการ U2T ของตำบลนายางจำนวน 10 คน เป็นผู้ดำเนินการผลิตจำนวน 2,000 กิโลกรัม หลังจากนั้นนำปุ๋ยอินทรีย์เคมีอัดเม็ดสู่กระบวนการวิเคราะห์ทดสอบปริมาณธาตุอาหารในห้องปฏิบัติการและบรรจุถุงเพื่อจัดจำหน่ายภายใต้แบรด์ “ขี้วัวทองคำ” ทั้งนี้ผลสำเร็จในการดำเนินงานใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน ในโครงการ U2T ของตำบลนายาง พบว่าสามารถลดปัญหากลิ่นรบกวนและมูลวัวบนท้องถนนได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีการเก็บมูลวัวนำมาตากแห้งเพื่อนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีอัดเม็ด และนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตร ช่วยลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นภายในชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน จากระยะเวลา 90 วัน ในการดำเนินโครงการ U2T ตำบลนายาง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีอัดเม็ดได้จำนวน 80 กระสอบ (กระสอบละ 25 กิโลกรัม) จำหน่ายราคากระสอบละ 230 บาท ดังนั้นทางชุมชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 บาท/ปี โดยมีการจัดจำหน่ายร้านค้าในชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน และทางออนไลน์ Ban Nayang, Phichai,Uttaradit  เพจตลาดนายาง เพจชิมไปเที่ยวไปในนายาง  เพจ อบต.นายาง อำเภอพิชัย และอีกหนึ่งความสำเร็จของโครงการ U2T ของตำบลนายาง จากการส่งผลงานปุ๋ยอินทรีย์เคมีอัดเม็ด ภายใต้แบรนด์ “ขี้วัวทองคำ” เข้าประกวดแข่งขันนวัตกรรมที่ผสานองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ด้าน BCG  National Hackathon 2022 ได้รับรางวัลชนะเลิศ (ภาคเหนือตอนล่าง) Track 1: Food and Agriculture  และผ่านการคัดเลือกให้เป็นตัวแทน 1 ใน 36 ทีม (กว่า 15,000 โครงการ ทั่วประเทศ) นำเสนอผลงานเพื่อแข่งขัน National Hackathon 2022 ระดับประเทศ ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร