ผลงานการจัดการความรู้
Date Uploaded: Jun 24, 2023
- ชื่อเรื่อง
- การพัฒนารูปแบบการบริการวารสารฉบับพิมพ์ (Print Journals) ของสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
- ปี พ.ศ. 2566
- รางวัล รางวัลชมเชย
- ประเภทผลงาน
- ด้านพัฒนากระบวนการทำงาน
- ชื่อผู้ส่งผลงาน / รายชื่อคณะทำงาน
- 1. นางสาวนภา มิ่งนัน2. นางสาวกาญจนา สกุลเพ็ชร3. นางพรรณพร ผดุงพร
- บทสรุปโครงการ
- การพัฒนารูปแบบการบริการวารสารฉบับพิมพ์ (Print Journals) เพื่อต้องการสร้างการพลิกโฉมรูปแบบบริการสารสนเทศเชิงรุก คือมุ่งเน้นให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปค้นหาและเรียกใช้วารสารจากแหล่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง รวมถึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้วารสารได้โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักวิทยบริการฯ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ รวมถึงนำมาปรับปรุงการให้บริการเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสารสนเทศได้อย่างสะดวกและทันการณ์ ซึ่งการสร้างบริการสารสนเทศเชิงรุกที่เป็นเลิศจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริการที่มีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้บริการ รวมถึงสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการที่ตรงกับความต้องการได้อย่างแท้จริง และที่สำคัญที่สุดคือเกิดการใช้ทรัพยากรสารสนเทศอย่างคุ้มค่าและการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการวารสารรฉบับล่วงเวลานำไปจัดเรียงรวมกันกับวารสารเย็บเล่ม และให้บริการระบบชั้นเปิด คือผู้ใช้สามารถหยิบอ่านได้ด้วยตนเอง สามารถยืมออกนอกสำนักวิทยบริการฯ ได้ และกำหนดสิทธิ์การยืมได้คนละ 3 ฉบับ/7 วัน และสามารถใช้สิทธิ์ยืมต่อทางออนไลน์ผ่านทาง WEB OPAC (Online Public Access Catalog) เช่นเดียวกับทรัพยากรสารสนเทศประเภทหนังสือ เพื่อรองรับการให้บริการในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 313 คน พบว่ามีความพึงพอใจการบริการวารสารฉบับพิมพ์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก (x̅ = 4.01) ได้แก่ ด้านกระบวนการ/ขั้นตอนและความสะดวกรวดเร็วในการบริการ มีความพึงพอใจการเพิ่มสิทธิ์การยืมวารสารทุกประเภทให้ยืมออกนอกสำนักวิทยบริการฯ (x̅ = 4.43) รองลงมาคือผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปค้นหาวารสารได้ด้วยตนเอง (x̅ = 4.20) และป้ายแนะนำการให้บริการ/เอกสาร/คู่มือฯ มีความชัดเจนและเพียงพอ (x̅ = 4.08) ด้านสภาพแวดล้อม มีความพึงพอใจการเพิ่มพื้นที่ใช้งานร่วมกันและที่นั่งอ่านเพียงพอ เป็นสัดส่วนและพร้อมใช้บริการ (x̅ = 4.23) รองลงมาคือความสะอาดและความระเบียบเรียบร้อย (x̅ = 4.06) และจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีไว้ให้บริการสืบค้นวารสารจาก WEB OPAC (x̅ = 4.03) ด้านบุคลากร มีความพึงพอใจความกระตือรือร้นและเต็มใจให้บริการ (x̅ = 4.25) รองลงมาคือความรู้ความสามารถในการแนะนำและช่วยเหลือผู้ใช้ (x̅ = 4.04) และบุคลากรมีความรู้ความสามารถในการให้บริการ (x̅ = 4.03) สำหรับข้อเสนอแนะ พบว่าผู้ใช้บริการไม่ประสบความสำเร็จในการค้นหาวารสารต้องขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์/เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยค้นหาวารสารอยู่เรื่อย ๆ จึงนำปัญหาดังกล่าวมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ร่วมกับรองผู้อำนวยสำนักวิทยบริการฯ ที่รับผิดชอบงานด้านวิทยบริการ และบรรณารักษ์งานบริการและส่งเสริมผู้ใช้ โดยให้บรรณารักษ์/เจ้าหน้าที่งานสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องและสารสนเทศท้องถิ่น ดำเนินการสร้างคิวอาร์โค้ด (QR Code) ให้เชื่อมโยง (Link) รายชื่อวารสารที่ให้บริการในสำนักวิทยบริการฯ ไปยังฐานข้อมูลวารสารอิเล็กทรอนิกส์กลางของประเทศไทย (ThaiJo : Thai Journals Online) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) เข้าสู่ฐานข้อมูลได้ทันที